หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต Bachelor of Nursing Science Program
สถานการณ์ภายนอกหรือการพัฒนาที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนหลักสูตร
สถานการณ์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนการเปิดเสรีทางการค้า การเชื่อมต่อการค้าการลงทุนและข้อมูลข่าวสารทั่วโลก ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากร แรงงานอุตสาหกรรมมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศเกิดความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมรวมทั้งพฤติกรรมการดำรงชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป มีการแข่งขันสูง รายได้ไม่เพียงพอ เร่งรีบในการทำงานหาเลี้ยงชีพ เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเครียด โรคติดต่อใหม่ที่เกิดขึ้น รวมทั้งโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ทำให้การดูแลรักษาพยาบาลมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการจัดการศึกษาพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของระบบบริการสุขภาพของประเทศ
สถานการณ์และการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาระจากการพึ่งพิงของประชากรผู้สูงอายุได้ในระยะเวลา 20 ปี ข้างหน้าซึ่งคาดว่าในปีพ.ศ.2583 จะมีประชากรวัยทำงาน 1.7 คนต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุ 1 คนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากสังคมชนบทมาสู่สังคมเมือง จากครอบครัวขยายมาสู่ครอบครัวเดี่ยวต้องทอดทิ้งเด็กและ/หรือผู้สูงอายุอยู่กันเองโดยลำพัง เกิดปัญหาสังคมและผลกระทบต่าง ๆ ตามมามากขึ้น เช่น ปัญหาการใช้ยาเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รูปแบบของการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไปและขาดการออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของประชากรรวมทั้งยังมีปัญหาการค้ามนุษย์และการขาดการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเนื่อง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มวัยประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขระยะ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อรองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุการเชื่อมต่อทางการค้าและการลงทุน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายให้ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” ดังนั้นการตอบสนองต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องมีกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างเพียงพอโดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพที่เป็นกำลังคนหลักในการให้บริการสุขภาพ
ผลกระทบจากสถานการณ์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมต่อการพัฒนาหลักสูตรและความเกี่ยวข้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย
การพัฒนาหลักสูตร
ผลกระทบจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาหลักสูตรจะเน้นการสร้างบัณฑิตให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อการปฏิบัติการพยาบาลบนพื้นฐานของความเอื้ออาทรกับบุคคลทุกช่วงวัยเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มวัยผู้สูงอายุเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ กลุ่มวัยรุ่นเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง กลุ่มวัยทำงานเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอนามัยอันเนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิต โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบอิงผลลัพธ์ (Outcome based learning) และการเรียนรู้ในสถานการณ์จริงทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา ประเพณีและวัฒนธรรม สามารถใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน มีคุณธรรม จริยธรรมและมีอัตลักษณ์ของบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัย เนชั่น คือ สื่อสารดี ทักษะวิชาชีพเด่น เน้นเอื้ออาทร เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่จะเข้าสู่การเป็นประเทศไทย 4.0
ความเกี่ยวข้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย
บูรณาการปรัชญา อัตลักษณ์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้บัณฑิตมีคุณลักษณะพึงประสงค์ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพ และความต้องการการให้บริการแก่ประชาชน ชุมชน และสังคม โดยบูรณาการการวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเข้ากับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาหมวดวิชาเฉพาะส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้กระบวนการวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างเป็นระบบและจัดกิจกรรมการบริการวิชาการแก่ชุมชนร่วมกับอาจารย์โดยคำนึงถึงปัญหาของระบบสุขภาพของท้องถิ่นและของประเทศ
การประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา
เป็นพยาบาลวิชาชีพในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ (ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ)
เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำสถานศึกษา และสถานประกอบการต่าง ๆ
ประกอบอาชีพอิสระด้านการบริการสุขภาพที่ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
โครงสร้างหลักสูตร
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
ชื่อเต็มภาษาไทย : หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
ชื่อย่อ ภาษาไทย : พย.บ.
ชื่อเต็ม ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Nursing Science Program
ชื่อย่อ ภาษาอังกฤษ : B.N.S.
โครงสร้างหลักสูตร ตลอดหลักสูตร จำนวน 136 หน่วยกิต
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป จำนวน 30 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
จำนวน 9 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาภาษา
จำนวน 15 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
จำนวน 6 หน่วยกิต
2. หมวดวิชาเฉพาะ จำนวน 100 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ
จำนวน 22 หน่วยกิต
- กลุ่มวิชาชีพ
จำนวน 78 หน่วยกิต
3. หมวดวิชาเลลือกเสรี จำนวน 6 หน่วยกิต
คุณสมบัติผู้สมัคร
คุณสมบัติและการคัดเลือกนิสิต
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
(1) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการให้การรับรองวิทยฐานะ
(2) เป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วย หรือไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ไม่มีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
(3) เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี
(4) สำหรับผู้สมัครต่างชาติ ต้องสอบผ่านการทดสอบภาษาไทยตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
(5) มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วนตามที่มหาวิทยาลัยเนชั่นกำหนด
การคัดเลือกนิสิต
การคัดเลือกผู้สมัครเพื่อเข้าศึกษาให้ยึดถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผ่านการคัดเลือกตามประกาศของมหาวิทยาลัยเนชั่น โดยพิจารณาจากเกณฑ์ ผลการสอบคะแนนวัดความรู้หรือผลการสอบอื่นๆ การสอบข้อเขียน สัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ทดสอบบุคลิกภาพและสุขภาพจิต
(2) ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
(3) การคัดเลือกนิสิตให้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยเนชั่น
(4) หรือพิจารณาจากเกณฑ์คัดเลือกอื่นที่มหาวิทยาลัยอาจกำหนดในแต่ละปีการศึกษา
หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564)
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
- ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564)
ภาษาอังกฤษ Certificate Program for Practical Nursing
- ชื่อประกาศนียบัตร
ชื่อภาษาไทย ชื่อเต็ม ประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล
ชื่อย่อ ป. ผู้ช่วยพยาบาล
ชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อเต็ม Certificate for Practical Nursing
ชื่อย่อ Cert. PN.
- หน่วยงานที่รับผิดชอบ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
ที่ตั้ง 444 ถนนวชิราวุธดำเนิน ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
- หลักการและเหตุผล
การบริการด้านสุขภาพ เป็นงานบริการที่จำเป็นสำหรับสังคม ซึ่งการจะให้บริการแก่ประชาชนได้อย่าง ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ จะต้องมีบุคลากรในทีมสุขภาพที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอ พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลสุขภาพของผู้รับบริการ อย่างไรก็ตามการผลิตพยาบาลในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการของสถานบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ผู้ช่วยพยาบาลจึงมีบทบาทสนับสนุนการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพโดยเฉพาะการดูแลความ สุขสบายและความปลอดภัยให้กับผู้รับบริการ ส่งผลให้การดูแลสุขภาพของประชาชนมีความสุขสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเอกชน สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทหน้าที่ในการผลิตบุคลากรทางการพยาบาลตอบสนองความต้องการการบริการด้านสุขภาพของผู้รับบริการในทุกระดับของสถานบริการสุขภาพ ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลน พยาบาลวิชาชีพ จึงได้จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของพยาบาลวิชาชีพ โดยปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการ ผดุงครรภ์
- ปรัชญาของหลักสูตร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น มีความเชื่อว่า ผู้ช่วยพยาบาลเป็นผู้ช่วยทำการพยาบาลตามที่พยาบาลมอบหมายในการดูแลผู้ที่ต้องพึ่งพิงเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือบุคคลตามความต้องการขั้นพื้นฐานในกิจวัตรประจำวัน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และอันตรายต่าง ๆ สังเกตอาการ วัดสัญญาณชีพ และทำการบันทึกติดตามความเปลี่ยนแปลงของอาการและอาการแสดงของโรค ช่วยเหลือในการตรวจและการรักษาพยาบาล ต่าง ๆ จัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมในการปฐมพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการให้การฟื้นฟูสภาพตามแผนการรักษาพยาบาล การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้ศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปและการพยาบาลขั้นพื้นฐาน ตลอดจนมีวิชาให้เลือกเรียนก่อนสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล พยาบาลและบุคลากรในทีมสุขภาพ สามารถให้การพยาบาลขั้นพื้นฐานเพื่อให้บุคคลดำรงชีวิตด้านการดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามอัตภาพและมีโอกาสเลือกเรียนในวิชาที่สนใจ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล จะสามารถช่วยผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ในการดูแลบุคคลทั้งในสถานพยาบาล ที่บ้าน และในชุมชน ในด้านการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การพยาบาลที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและการพยาบาลบุคคลที่อยู่ในระยะท้ายโดยอยู่ภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลทั้งที่มีภาวะสุขภาพดีหรือเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่รุนแรง ซับซ้อน สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ภายหลังสำเร็จการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น ผู้สำเร็จการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
6.1 ช่วยเหลือดูแลบุคคลด้านความต้องการขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การป้องกันภาวะแทรกซ้อนและอันตรายต่าง ๆ และการฟื้นฟูสภาพภายใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
6.2 ติดตามและบันทึกอาการความเปลี่ยนแปลงอาการและอาการแสดงของโรคและความต้องการของผู้ป่วยและญาติตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์มอบหมาย
6.3 ช่วยจัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อมในการตรวจรักษาพยาบาลที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
6.4 ช่วยทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉินภายใต้การควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์
6.5 มีทัศนคติที่ดีต่อการช่วยเหลือดูแลบุคคล
6.6 มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทีมสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6.7 มีคุณธรรมและจริยธรรม
- คุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษา
กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาตามข้อบังคับสภาการพยาบาลว่าด้วยการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล พ.ศ. 2560 ดังนี้
7.1 มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
7.2 มีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าตามหลักสูตร ที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองไม่ต่ำกว่า 2.0
7.3 เพศชายหรือเพศหญิง อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันเปิดการศึกษา
7.4 น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร
7.6 สุขภาพสมบูรณ์ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือการปฏิบัติงาน
- การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา 8.1 การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาเป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยชั่น โดยพิจารณาจากเกณฑ์ ดังนี้ ผลการสอบวัดความรู้จากการสอบข้อเขียน การสัมภาษณ์ การทดสอบสุขภาพจิตและผลการตรวจร่างกายหรือพิจารณาจากเกณฑ์การคัดเลือกอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำหนดในแต่ละปีการศึกษา 8.2 การแต่งกาย : ผู้เข้าศึกษาต้องแต่งกายในระหว่างการศึกษาดังนี้
- ภาคทฤษฎี : แต่งกายสุภาพ ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยเนชั่น
- ภาคปฏิบัติ : นิสิตชาย เสื้อสีขาวคอกลมและป้ายไปด้านซ้าย กุ้นสีน้ำเงินบริเวณคอและแนวกระดุมปักชื่อหลักสูตรที่อกเสื้อด้านซ้ายสีน้ำเงินให้เห็นได้อย่างชัดเจน กางเกงสีดำ นิสิตหญิง ชุดติดกันสีขาว คอบัว กุ้นปกสีน้ำเงิน ปักชื่อหลักสูตรที่อกเสื้อด้านซ้าย สีน้ำเงินให้เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่สวมหมวก